ว่าด้วย Film Slate
ถือเป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็สำคัญไม่ย่อยกับ “สเลทหนัง” (Film Slate) หลายคนอาจจะคิดว่า มีไว้เท่ๆ เท่านั้น แต่เจ้าสเลทนี่แหละที่ช่างตัดต่อโหยหานักเชียว ไม่เช่นนั้นโปรดิวเซอร์ก็จะต้องนั่งไหล่ติดกันกับช่างตัดต่อตลอดเลยนะ ลองดูคลิปด้านล่างนี้เป็นไอเดียก่อนว่า เขาใช้สเลทกันยังไง
สเลทนั้นสำคัญจะต้องมี “เสียง” มี “ข้อมูลตัวอักษร” โดยข้อมูลที่เขียนบนสเลทนั้นจะสื่อถืงฉากที่ถ่ายว่า มีรายละเอียดยังไง เพื่อสื่อสารกับช่างตัดต่อ และทีมงานด้านต่างๆ ส่วนเสียงเวลาตีสเลทนั้นจะใช้สำหรับ Sync เสียง ในกรณีทีมีการอัดเสียงแยก หรือในกรณีที่ภาพมาจากกล้องหลายตัวนั่นเอง อธิบายแบบรวบรัดก่อนนะครับ ว่างๆ จะเอาสเลทที่ผมใช้งานจริงมาให้ดู
เอาภาพมาให้ดูก่อน จะเห็นว่าผมถือสเลทติดตัวเสมอตอนออกกองถ่าย ส่วนจะจำเป็นยังไงนั้น ไว้จะเล่าอีกครั้งนะครับ
เอาล่ะครับ กลับมาเล่าเรื่องสเลทต่อ …ในกองถ่ายใหญ่ๆ นั้นจะมีคนถือสเลทโดยเฉพาะ และทุกฉากที่ถ่ายก็จะต้องมีการตีสเลท แต่ในกองเล็กๆ อย่างผมยิ่งจำเป็นต้องมีสเลท เพื่อที่จะทำให้งาน post-production สะดวกยิ่งขึ้น (นี่ขนาดผมถ่ายเอง ตัดต่อเองนะเนี่ย) เช่น ครั้งหนึ่งผมออกกอง (แน่นอนครับ ผมไปคนเดียว) โดยใช้กล้อง 2 ตัว กล้องหลักผมเป็นคนควบคุม ส่วนกล้องรองผมตั้งทิ้งไว้ โดยเลือกเฟรมที่เหมาะสมไว้แล้ว
แถมต้องบันทึกเสียงแยกจากกล้องอีกต่างหาก (น่าเศร้า ตอนนั้นยังไม่มี wireless microphone) เอาล่ะซิ! คุณลองคิดดู กล้อง 2 ตัว เครื่องบันทึกเสียงอีก 1 ตัว แล้วอุปกรณ์ทั้ง 3 ชิ้นจะทำงานให้มันพร้อมๆ กันได้ยังไง…
อย่างแรกคุณอาจจะคิดว่า “ก็ต้องสั่งอุปกรณ์เหล่านั้นให้ทำงานพร้อมๆ กัน” อันนี้แหละยากที่สุด! เพราะขนาดมีคนคุมอุปกรณ์ทุกชิ้นยังบอกให้กดบันทึกในจังหวะวินาทีที่ตรงกันลำบากเลย คือถ้าเร็วหรือช้ากว่าเพียง 1 วินาทีก็ไม่ได้
อีกอย่างคุณอาจจะคิดว่า “ก็ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Sync เสียงกับภาพสิ” อันนี้ผมก็ลองทำแล้ว แต่บางครั้งก็มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง …แล้วจะทำยังไงล่ะทีนี้ นั่นแหละครับผมจึงต้องตีสเลท
เอาล่ะ! ตอนนี้ผมกดบันทึกอุปกรณ์ทุกอย่างของผมแล้ว (กล้อง 2 ตัว เครื่องบันทึกเสียง 1 ตัว แน่นอน กดไม่พร้อมกันแน่ๆ) จากนั้นผมก็หยิบสเลทยื่นไปอยู่หน้ากล้องทั้งสองตัว และใกล้ๆ กับเครื่องบันทึกเสียง แล้วก็พูดรายละเอียดซีนที่จะถ่าย และที่สำคัญก็คือตอนตีสเลท “แป๊ก” จากนั้นผมก็เดินมานั่งหน้ากล้องหลัก แล้วก็ทำหน้าที่สัมภาษณ์ซักถามต่อ ^_^’
ใครที่คิดว่าสเลทใหญ่ไป พกพายาก หรือไม่มี ก็สามารถใช้แอปสเลทในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ หรือไม่ก็ใช้การปรบมือเป็นสัญญาณแทนสเลทก็มี …อย่าลืมครับว่า “สเลทอยู่ที่ใจ” ยังไม่จบนะ เดี๋ยวจะกลับมาเล่าเรื่องสเลทกับโปรแกรมตัดต่อกันอีก
You must be logged in to post a comment.